ประเด็นร้อน

เปิดข้อมูล 23 คดี กทพ.ถูกฟ้องกว่า 5.2 หมื่นล้าน

โดย ACT โพสเมื่อ May 02,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา - -

 

การทางพิเศษฯ มีหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกฟ้องร้อง ณ วันที่ 30  กันยายน 2561 รวมทั้งสิ้น  23  คดี เป็นเงิน 52,303.85 ล้านบาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการและศาล


หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบการแข่งขัน ในปี 2542-2543 ให้แก่ บริษัทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นเงิน 4,318 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้มีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 75,000 ล้านบาท โดยยังมีคดีพิพาทอื่นๆอีก รวมทุกคดีมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท กระทั่งรัฐบาลมีมติครม.ให้ กทพ.ไปเจรจาต่อรองกับ บีอีเอ็มนั้น ( อ่านประกอบ:รองปลัดคมนาคม ระบุพร้อมประชุมพิจารณาผลเจรจา 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ขยายสัมปทานทางด่วน 2 และ เช็คลิสต์ 5 คดีค้าง กทพ. พิพาททางด่วนกับ 2 เอกชนยักษ์ใหญ่ )


สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายงานประจำปี 2561 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พบว่า การทางพิเศษฯ มีหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกฟ้องร้อง ณ วันที่ 30  กันยายน 2561 รวมทั้งสิ้น จำนวน 23  คดี เป็นเงิน 52,303.85 ล้านบาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการและศาล  ดังนี้


 

บีอีเอ็มฟ้องเรียกค่าชดเชยกราวรูด 7 คดี

@  ข้อพิพาทที่การทางพิเศษฯ ถูกฟ้องหรือถูกเรียกค่าชดเชยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ   7 คดี  จำนวนเงิน 41,435.63 ล้านบาท ดังนี้


(1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (เดิม บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 เรียกร้องให้การทางพิเศษฯ ชดใช้เงินค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษของรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D จำนวนเงิน 1,048.24 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษของรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546  และอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามที่บริษัทฯ เรียกร้องจนกว่าจะมีการดำเนินการปรับและบังคับใช้อัตราค่าผ่านทางพิเศษให้เป็นไปตามที่เรียกร้องไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2551  พร้อมดอกเบี้ย ตามสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น


ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนคณะอนุญาโตตุลาการจัดทำคำชี้ขาด 


(2) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (เดิม บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 เรียกร้องให้ การทางพิเศษฯ ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่ 2 ในปี พ.ศ. 2551  เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของโครงข่ายในเขตเมืองและโครงข่ายนอกเขตเมือง ตามอัตราค่าผ่านทางในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551  ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 9,091.79 ล้านบาท


ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนคณะอนุญาโตตุลาการจัดทำคำชี้ขาด 


(3) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (เดิม บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556  เรียกร้องให้ การทางพิเศษฯ ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ในปี พ.ศ. 2551  เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ตามอัตราค่าผ่านทางในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 4,062.83 ล้านบาท


ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนคู่พิพาทยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมเอกสารและบันทึกคำให้การพยานเป็นลายลักษณ์อักษร 


(4) บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำากัด ได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 เรียกร้องให้การทางพิเศษฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ในปี พ.ศ. 2556  เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ทางพิเศษสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ตามอัตราค่าผ่านทางพิเศษในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546  ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 908.69 ล้านบาท


ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนคู่พิพาทยื่นคำให้การพยานเป็นลายลักษณ์อักษร 


(5) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561  เรียกร้องให้ การทางพิเศษฯ ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่ 2 ในปี พ.ศ.2556  เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของโครงข่ายในเขตเมืองและโครงข่ายนอกเขตเมืองตามอัตราค่าผ่านทางในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 14,662.73  ล้านบาท


ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนคู่พิพาทยื่นคำคัดค้าน 


(6) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561  เรียกร้องให้ การทางพิเศษฯ ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่2 ส่วน D ในปี พ.ศ.2556 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ตามอัตราค่าผ่านทางในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 6,936.48 ล้านบาท


ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนคู่พิพาทยื่นคำคัดค้าน 


(7) บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561  เรียกร้องให้ การทางพิเศษฯ ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในปี พ.ศ. 2551 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ทางพิเศษสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ตามอัตราค่าผ่านทางพิเศษในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551  ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 4,724.87 ล้านบาท


ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนคู่พิพาทยื่นคำคัดค้าน


 

@ ข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี จำนวนเงิน 4,750.55 ล้านบาท ดังนี้


(1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (เดิม บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2551  เรียกร้องให้การทางพิเศษฯ ชดใช้ค่าเสียหาย (โครงข่ายในเขตเมืองและนอกเขตเมืองของระบบทางด่วนขั้นที่ 2  จากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษปี พ.ศ. 2546  จำนวนเงิน 4,368 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษของรถยนต์แต่ละประเภทของโครงข่ายในเขตเมืองและโครงข่ายนอกเขตเมืองตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29  สิงหาคม 2546 และอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามที่บริษัทฯ เรียกร้อง จนกว่าจะมีการปรับและบังคับใช้อัตราค่าผ่านทางพิเศษให้เป็นไปตามที่เรียกร้องไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2551  พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จ 


เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559  คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 6/2559 โดยคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากได้ชี้ขาดให้การทางพิเศษฯ ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้เรียกร้อง จำนวน 4,368ล้านบาท และดอกเบี้ยตามสัญญา โดยคิดเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551  เป็นต้นไปจนกว่า การทางพิเศษฯ จะชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้เรียกร้องจนเสร็จสิ้น 


เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559  การทางพิเศษฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคดีหมายเลขดำที่ 821/2559  ระหว่าง การทางพิเศษฯ ผู้ร้อง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกร้อง


ขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง 


(2) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (เดิม บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2552  เรียกร้องให้การทางพิเศษฯ ชำระเงินจำนวน 382.30  ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย เนื่องจากการทางพิเศษฯ ได้มีหนังสือบอกกล่าวเปลี่ยนแปลงงาน (NOV) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556  คณะอนุญาโตตุลาการได้มี คำชี้ขาดให้การทางพิเศษฯ ชำระค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นจำนวนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยถึงวันเสนอข้อพิพาท เป็นจำนวนเงิน 382.55 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559  บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้มีคำพิพากษาหรือคำบังคับให้การทางพิเศษฯ ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ


ขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง


 

@ ข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นศาลปกครองสูงสุด จำนวน 3  คดี จำนวนเงิน 5,350.57  ล้านบาท ดังนี้


(1) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542  เรียกร้องให้การทางพิเศษฯ ชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างทางพิเศษเพิ่มเติมโครงการเชื่อมต่อทางยกระดับดินแดง-ดอนเมือง กับระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2  จำนวนเงิน 52.04 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน  2550 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้เรียกร้อง ต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและเรียกร้องค่าเสียหายจากการทางพิเศษฯ จำนวนเงิน 81.40  ล้านบาท โดยศาลแพ่งให้โอนคดีไปศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 27  มีนาคม 2556  ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกคำร้องของบริษัทฯ และบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 พนักงานอัยการผู้รับมอบอำนาจจากการทางพิเศษฯ ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว


ขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด 


(2) บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องการทางพิเศษฯ ต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 14  ตุลาคม 2551 เรียกร้องให้การทางพิเศษฯ  ชำระดอกเบี้ยจากการขยายระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ (บางพลี-บางขุนเทียน) 2 ครั้ง  จำนวนเงิน 248 .01 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย เมื่อวันที่21  กุมภาพันธ์ 2556  ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้การทางพิเศษฯ ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด การทางพิเศษฯ ได้แจ้งอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่  22 มีนาคม 2556 พนักงานอัยการผู้รับมอบอำนาจจากการทางพิเศษฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว


ขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด 


(3) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ  จำกัด (มหาชน) (เดิม บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) เสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้การทางพิเศษฯ แบ่งรายได้ค่าผ่านทางพิเศษของโครงข่ายในเขตเมืองที่บริษัทฯ พึงได้รับเป็นจำนวนเงิน3,831.48 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการนับวันเปิดใช้งานของพื้นที่ส่วนแรกที่แตกต่างกัน ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้การทางพิเศษฯ ชำระเงินตามที่บริษัทฯ เรียกร้องพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาและเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552  การทางพิเศษฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม  2554 บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งพร้อมออกคำบังคับให้การทางพิเศษฯ ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยคำนวณดอกเบี้ยเพิ่มเติมจนถึงวันฟ้อง จำนวนเงิน 1,189.68  ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 5,021.16 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13  กันยายน 2556  ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกคำร้องของการทางพิเศษฯ ที่ร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่  11 ตุลาคม 2556  พนักงานอัยการผู้รับมอบอำนาจจากการทางพิเศษฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว


ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

 

19 ปี การทางพิเศษฯ ค้างจ่ายค่าติดตั้งไฟสว่าง 316 ล้าน

@ ข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นศาลแพ่ง 1  คดี จำนวนเงิน 316.17 ล้านบาท ดังนี้

 

(1) บริษัท บิลฟิงเกอร์ พลัส เบอร์เกอร์ บาวอัคเตียนเกเซลชาฟท์ จำกัด บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดิคเคอร์ฮอฟฟ์ แอนด์ วิดแมนน์ เอจี ในนามของกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543 เรียกร้องให้การทางพิเศษฯ ชำระเงินค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ที่เพิ่มขึ้นในโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวนเงิน 316.17  ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี


เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากได้มีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 34/2560  ให้การทางพิเศษฯ ชำระค่าจ้างงานที่เพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้เรียกร้องนับแต่วันที่  17  ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น 


เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม  2560  พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีแพ่ง 1  สำนักงานคดีแพ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2543 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 34/2560 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 3600/2560


ขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลแพ่ง


ทั้งนี้ในรายงานประจำปี 2561 ของการทางพิเศษฯ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เสนอความเห็น โดยให้ข้อสังเกต เรื่องหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกฟ้องร้อง จำนวน 23 คดี เป็นทุนทรัพย์จำนวนเงิน 52,303.85 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการและศาล เอาไว้ด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดผลเจรจาข้อพิพาท 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ก่อนได้ข้อยุติขยายสัมปทาน แลกใช้หนี้แสนล้าน

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw